เรื่องราวชาวม้ง

ประวัติย่อม้งในประเทศไทย

คำว่า "ม้ง" แปลว่า "อิสรชน" มีนิยายปรัมปราของชาวม้งซึ่งได้เล่าสืบต่อกันมา กล่าวไว้ว่า ถิ่นกำเนิดของม้งอยู่ที่มุมหนึ่งของโลก เป็นดินแดนที่มีอากาศหนาวเย็น ปกคลุมด้วยหิมะ น้ำตามลำธารจับตัวเป็นน้ำแข็ง มีเวลากลางคืนและกลางวันยาวนานถึง 6 เดือน จึงเป็นการน่าเชื่อว่าชาวม้งเคยอาศัยอยู่ในบริเวณ มองโกเลีย หรือแม้แต่ทางเหนือของสแกนดิเนเวีย หรือ บริเวณขั้วโลกเหนือ อย่างไรก็ตาม โดยที่เห็นว่าม้งมีลักษณะ หน้าตา ภาษา และความเชื่อทางศาสนาไม่เหมือนใคร บาทหลวงซาวีนา จึงเชื่อว่า ม้งไม่เหมือนชนชาติใดๆ ในทวีปเอเชีย และมีแหล่งกำเนิดจากที่แห่งหนึ่งในแคว้นเมโสโปเตเมีย จากประวัติศาสตร์ของจีน สันนิฐานได้ว่า ชาวม้งอยู่ในประเทศจีนมาก่อนชาวจีน และมีอาณาจักรของตนเองอยู่อย่างสงบสุขมาเป็นเวลานาน ต่อมาชาวจีนได้อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณลุ่มแม่นำฮวงโห (แม่นำเหลือง) และได้แผ่ขยายอาณาเขตออกมาด้วยการสู้รบขับไล่ชนชาติต่างๆ ที่เป็นบรรพบุรุษของชนชาติไทย ชนชาติม้ง และชนชาติอื่นๆ การต่อสู้ระหว่างบรรพบุรุษของชนชาติม้งและชนชาติจีนได้เป็นไปอย่างรุนแรงและยืดเยื้อ ในสมัยราชวงศ์แมนจู (เหม็ง) หรือคริสศตวรรษที่ 17 กษัตริย์ในราชวงศ์เหม็งได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปราบปรามให้ชาวม้งยอมจำนนโดยสิ้นเชิง จึงได้มีการต่อสู้อย่างรุนแรงในหลายแห่ง เช่น ที่เมืองพังหยุน ในปี ค.ศ. 1466 ในมณฑลไกวเจา ในระหว่าง ปี ค.ศ. 1733-1735 ในมณฑลเสฉวนและไกวเจา ระหว่างปี 1763-1775 สำหรับการสู้รบกับจีนครั้งหลังสุด เป็นช่วงเวลาประมาณ ปี ค.ศ. 1855-1881 ชาวม้งได้พ่ายแพ้ ส่วนหนึ่งจึงหลบหนึเข้าไปอยู่ตามป่าตามเขา ร่นไปทางตะวันตก มณฑลเสฉวน และทางใต้ มณฑลตังเกี๋ย และมณฑลยูนนาน ระหว่างการสู้รบศึกสงครามชาวม้งได้อาศัยภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อป้องกันการรุกรานจากศัตรูและเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับความเป็นชนชาติที่รักอิสระ ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มเย็นและกว้างใหญ่ไพศาล การอาศัยอยู่ตามภูเขาสูงจึงได้กลายเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของชนชาติม้งในช่วงเวลาต่อมา ซึ่งมีการกล่าวกันว่า "น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก แต่ภูเขาเป็นของม้ง" ชาวม้งได้อพยพผ่านประเทศเวียตนาม ลาว และในที่สุด ถึงประเทศไทย จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านที่มีอายุร่วมร้อยปี กล่าวว่าพวกเขาเกิดในแผ่นดินไทย และส่วนใหญ่กล่าวว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขาเป็นนักรบเดินทางมาจากประเทศจีน ขณะที่ศูนย์วิจัยชาวเขาที่เชียงใหม่มีความเห็นว่า ชาวม้งกลุ่มแรกๆ ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยประมาณเมื่อ ปี ค.ศ. 1850 ฉะนั้น ชาวม้งจึงน่าจะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยได้ประมาณ 150 ปีมาแล้ว โดยมีเส้นทางอพยพเข้ามา 3 จุดใหญ่ๆ คือ

1. เป็นจุดที่ชาวม้งเข้ามามากที่สุด อยู่ทางทิศเหนือสุดหรือแนวเมืองคาย - ห้วยทราย - เชียงของ
2. อยู่ในแนว สายบุรี (ลาว) - อ. ปัว จ. น่าน
3. เป็นจุดที่เข้ามาน้อยที่สุด อยู่ในแนว ภูเขาคาย (ใกล้เวียงจันทร์) - จังหวัดเลย

จากการสำรวจของ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลกลางชุมชนบนพื้นที่สูง กองสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปี 2541 ได้สรุปจำนวนประชากรชาวม้งว่ามีประมาณ 126,300 คน อาศัยอยู่ใน 13 จังหวัดเขตภาคเหนือ คือ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย พะเยา และ เลย
ชาวม้งในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ
1. ม้งจั๊ว (ม้งเขียว หรือ น้ำเงิน)
2. ม้งเดอะ (ม้งขาว)
3. ม้งจ้ายบ๊าง (ม้งลาย)

ที่อยู่อาศัย

ม้งชอบตั้งบ้านเรือนอยู่บนเขาสูงๆ ที่มีอากาศเย็นสบาย ส่วนใหญ่จะอาศัยพื้นที่ลาดจากยอดเขาที่ไม่ชันมากนัก อยู่ใกล้กับลำธาร สะดวกในการไปตักน้ำมาใช้ หรือสามารถใช้ลำไม้ไผ่ผ่าครึ่งต่อรางส่งน้ำจากที่สูงกว่ามาใช้ในหมู่บ้านได้สะดวก เมื่อเลือกที่ได้แล้ว จะขุดหลุมหนึ่งหลุม นำเม็ดข้าวสารจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัวโรยลงในหลุม แล้วโรยข้าสารอีกสามเม็ดแทนสัตว์เลี้ยง เสร็จแล้วจะจุดธูปบูชาผีเจ้าที่เจ้าทาง เพื่อขออนุญาต และเอาชามมาครอบก่อนเอาดินกลบ รุ่งขึ้นจึงเปิดดู หากเมล็ดข้าวยังอยู่เรียบร้อย ก็หมายความว่า ที่ดังกล่าวสามารถทำการปลูกสร้างบ้านเรือนได้ รอบๆ ตัวบ้านมักจะมีโรงม้า คอกหมู เล้าไก่ ยุ้งฉางใส่ข้าวเปลือก ถั่ว และ ข้าวโพด โดยไม่มีรั้วบ้าน ส่วนมากญาติพี่น้องบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ติดๆ กัน ตัวบ้านปลูกคล่อมอยู่บนพื้นดินที่ทุบแน่น วัสดุส่วนใหญ่ใช้ไม้เนื้ออ่อน ผนังกั้นระหว่างห้องหรือบ้านทำใช้ลำไม้ไผ่ผ่าคลี่เป็นแผ่น หลังคามุงด้วยหญ้าคา แต่เสาจะเป็นไม้เนื้อแข็ง แปลนเป็นแบบง่ายๆ ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากอยู่ในที่อากาศหนาวเย็น ใกล้กับประตูหลัก จะมีเตาไฟเล็กและแคร่ไม่ไผ่สำหรับนั่งหรือนอน เอาไว้รับแขก กลางบ้านจะเป็นที่ทำงานบ้าน เข้าไปในสุด ด้านซ้ายจะเป็นเตาไฟใหญุ่ สำหรับทำอาหารเลี้ยงแขกจำนวนมาก และ เอาไว้ต้มอาหารหมู บางบ้านจะมีครกไม้ใหญ่สำหรับตำข้าวเปลือก มีลูกโม่หินสำหรับบดข้าวโพด แป้ง ถั่วเหลือง ใกล้กับที่ทำงานจะมีกระบอกไม้ใผ่รองนำตั้งอยู่ สำหรับมุมบ้านฝั่งซ้ายมักจะกั้นเป็นห้องนอน ภายในบ้านจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่ 5 แห่ง คือ ประตูทางเข้าหลัก เสากลาง ผนังบ้านที่ตรงข้ามกับประตูหลัก เตาไฟใหญ่ และเตาไฟเล็ก ชาวม้งจะไม่ค่อยย้ายที่อยู่บ่อยนักเมื่อเทียบกับเผ่าอื่น บางทีอยู่นาน 15-20 ปี จึงย้ายไปอยู่ที่ใหม่ และอาจย้ายกลับมาที่เดิมอีก ม้งมีระบบเครือญาติที่มั่นคงมาก จึงเป็นการยากที่จะถูกกลืนโดยชนชาติอื่นๆ

ระบบเศรษฐกิจ

ม้งเป็นชนเผ่าที่มีฐานะความเป็นอยู่ในระดับที่ดีและการเกษตรค่อนข้างมีความก้าวหน้ากว่าเมื่อเทียบกับชนเผ่าอื่นๆ ทั้งนี้ ด้วยความสามารถ ขยัน ประหยัด และอดทน

การเพาะปลูก

พืชที่ปลูกมี ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวโพด ถั่ว ฟักทอง พริก มัน ผักกาด ฝ้าย และฝิ่น (ปัจจุบันการเพาะปลูกฝิ่นยังคงมีหลงเหลือในป่าลึกอยู่บ้าง แต่มีในปริมาณน้อยมาก เป็นการยากที่จะหาชมได้อีกต่อไป)

การเลี้ยงสัตว์

ม้งมีความสามารถในการเลี้ยงและบำรุงสัตว์ได้เป็นอย่างดี มีการทำคอกและเล้าสำหรับเลี้ยงม้า วัว ควาย หมู ไก่ แพะ แกะ และลา สัตว์ที่นับว่าได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่เป็นพิเศษเห็นจะได้แก่ ม้า ส่วนที่ได้รับการดูแลแย่หน่อยคงจะเป็นสุนัข ยกเว้นสุนัขล่าเนื้อที่มีความสามารถ นอกจากนี้ ม้งยังรู้จักวิธีการตอน และวิธีการผสมพันธุ์สัตว์ต่างๆ ที่จะให้ได้พันธุ์ดีๆ อีกด้วย สัตว์ที่เลี้ยง สามารถแยกได้เป็น 3 ประเภท คือ สำหรับใช้เป็นอาหาร ใช้งาน และเป็นสินค้า

การล่าสัตว์ และเก็บของป่า

ม้งเป็นนักล่าสัตว์ที่มีฝีมือ ม้งจะล่าสัตว์ทุกชนิดทั้งเล็กใหญ่ ยกเว้นสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษ แปลก หรือ ที่เชื่อว่าเป็นสัตว์ผี นอกจากนี้ยังรู้จักเก็บของป่า เช่น ผลไม้ รากไม้ เปลือกไม้ ใบไม้ มาใช้เป็นอาหาร ยารักษาโรค และเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ อาวุธประจำตัวมักเป็นมีดสั้นใส่ฝักไม้เหน็บไว้ที่เอว และพกดาบยาวเมื่อเดินทางในเวลากลางคืนหรือเดินทางไกล

การทอผ้าและงานศิลปหัตถกรรม

ม้งมีความสามารถในการทอผ้าดิบจากเปลือกไม้ (จั่ว และ มั่ง) ย้อมสีผ้า เขียนผ้าบาติกโดยใช้ไขและขี้ผึ้ง สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีลวดลายปราณีต งดงาม สามารถผลิตกระดาษมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา สามารถผลิตเครื่องประดับทำจากเงิน ทองคำ และ ทองเหลือง รู้จักผลิตสิ่งของเครื่องใช้ทำจากไม้ ไม้ไผ่ หิน และ เหล็กกล้า เช่น ตะกล้า รางป้อนอาหารสัตว์ ถังน้ำ ไหนึ่งข้าว ธนู ปืน เป็นต้น

การค้า

การแลกเปลี่ยนและค้าขาย เป็นไปตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย ในอดีต สิ่งที่ม้งต้องการคือ เงินแท่ง เหล็ก เกลือ ผ้า หม้อหุงข้าว ไฟฉาย วิทยุ ตะเกียง เสื้อผ้า เครื่องเหล็ก มีดพร้า อานม้า และอาหารต่างๆ เป็นต้น ม้งมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้เป็นอย่างดี มีนิสัยประหยัด เป็นนักค้าที่มีความสามารถ และไม่ชอบถูกเอาเปรียบ

ภาษาและหนังสือ

ม้งทั้งสามเผ่าพูดภาษาคล้ายๆ กัน คือมีรากศัพท์และไวยากรณ์ที่เหมือนกัน แต่การออกเสียงหรือสำเนียงจะแตกต่างกันเล็กน้อย ม้งสามารถใช้ภาษาเผ่าของตนเองพูดคุยกับม้งเผ่าอื่นเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่ม้งไม่มีภาษาเขียนหรือตัวหนังสือ มีเรื่องเล่ากันว่า แต่เดิม ม้งมีตัวหนังสือเหมือนกัน แต่ด้วยศึกสงครามและต้องอพยพอยู่เสมอ วันหนึ่งขณะขนลำเลียงหนังสือบรรทุกม้าเดินทางมาถึงริมลำธารแห่งหนึ่ง จึงปลดตะกร้าหนังสือลงจากหลังม้า แล้วพากันพักผ่อนและนอนหลับไป ลืมปล่อยม้ากินหญ้า ม้าเลยกินหนังสือของเขาเสียจนหมด ยังคงมีเรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายคลึงกันนี้เล่าว่า ขณะหนีศึกสงครามและใช้ม้าขนลำเลียงหนังสือม้งมา ระหว่างทางมีพายุฝนตกหนัก ทำให้หนังสือเปียกหมด เมื่อฝนหยุด จึงเอาหนังสือมากางตากแดด แล้วทุกคนก็มาพักผ่อนและม่อยหลับไป พอตื่นขึ้นมาม้าก็กินไปเสียเกือบหมด จึงพยายามเก็บในส่วนที่เหลืออยู่ พอไปถึงที่พัก ก็นำหนังสือส่วนที่เหลือซึ่งยังไม่แห้งดีไปเก็บไว้บนร้านสำหรับรมควันในบ้าน พอตกกลางคืนหนูก็พากันมากินหนังสือเสียจนหมด อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ชาวม้งได้เขียนและอ่านหนังสือภาษาม้งโดยการใช้ตัวอักขระหนังสือละติน (Hmong RPA) เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ของม้ง จึงอาศัยวิธีการจำและเล่าสืบต่อกันมาเพียงเท่านั้น สำหรับในด้านประวัติศาสตร์บางส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร สามารถค้นหาได้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของประเทศจีน

การสื่อสาร

ม้งรู้จักใช้เครื่องหมายในการสื่อสาร เช่น กรีดท่อนไม้เล็กๆ ใช้แทนสัญลักษณ์แสดงความคิดถึง ความรักอย่างท่วมอก มีเรื่องด่วนหรือธุระร้อน ต้องการให้ไปหาด่วน เป็นต้น สำหรับการสื่อสารกับผีสางเทวดา มีการใช้ เครื่องเซ่น หรือ ปลายเขาสัตว์ผ่าครึ่ง (เด่ากั๋ว) เป็นเครื่องแสดงหรือเสี่ยงทายความหมายของการสื่อสาร เช่น ใช่ ไม่ใช่ ได้ ไม่ได้ ไม่จำเป็น ไม่สามารถแก้ไขได้อีก เป็นต้น นับเป็นรูปแบบการสื่อสารเก่าแก่ที่น่าทึ่ง และยังคงใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

ประเพณีการสมรส

หลังจากว่างงานหลังฤดูเก็บเกี่ยว หนุ่มสาวม้งจะหาโอกาสเกี้ยวพาราสีในเวลาค่ำคืน หนุ่มสาวม้งมีข้อห้ามไม่เกี้ยวพาราสีกับคนแซ่เดียวกันหรือตระกูลเดียวกัน เพราะถือว่าเป็นพี่น้องกัน สำหรับโอกาสที่ดีที่สุด คือเทศกาลปีใหม่ม้ง ทั้งชายหนุ่มและหญิงสาวจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวยสดงดงามที่ได้รับการจัดเตรียมมาตลอดทั้งปี ชายหนุ่มและหญิงสาวจะจับคู่โยนลูกบอลซึ่งทำจากผ้าสีดำและมีขนาดใหญ่กว่าลูกเทนนิสเล็กน้อย ฝ่ายหญิงเป็นผู้นำลูกบอลมา การโยนลูกบอลไปมานั้นฝ่ายหญิงและชายจะยืนห่างกันประมาณ 5-10 เมตร หญิงสาวที่ยังไม่มีคู่จะเป็นคนเข้าไปทักชายหนุ่มที่ตนรู้จักหรือชอบพอและยื่นลูกบอลให้เป็นการขอเล่นโยนลูกบอลด้วยกัน หากชายหนุ่มคนใดไม่ชอบพอหญิงสาวคู่โยนของตน ก็จะหาทางปลีกตัวออกไปโดยมิให้เสียมารยาท ระหว่างเล่นโยนลูกบอลไปมา จะสนทนาไปด้วย หรืออาจเล่นเกมโดยตกลงกันว่าใครรับลูกบอลไม่ได้ ต้องเสียค่าปรับเป็นสิ่งของหรือเครื่องประดับให้กับฝ่ายตรงข้าม การเสียค่าปรับแก่กันและกันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทั้งคู่ได้พบกันและเกี้ยวพาราสีกันในตอนกลางคืน ในการเกี้ยวพาราสี จะกระทำที่บริเวณนอกบ้านของฝ่ายหญิง เพราะการเกี้ยวพาราสีในบ้านถือเป็นการผิดผี รบกวนผู้ใหญ่ หรือเป็นการไม่ให้เกียรติญาติฝ่ายหญิง เมื่อชายหนุ่มแน่ใจว่าพ่อแม่ของฝ่ายหญิงสาวหลับหมดแล้ว ตนจะเข้าไปชิดฝาผนังบ้านข้างๆห้องนอนของหญิงสาว แล้วกระซิบเรียก หรือ เป่าจ่าง (จ่างเป็นเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง ทำจากแผ่นทองเหลืองบางๆ ใช้ดีดที่ริมฝีปากแล้วกระซิบเป่าเบาๆ แผ่นโลหะจะสั่นสะเทือนและให้เสียงนุ่มเบาไพเราะน่าฟัง) หากฝ่ายหญิงจำเสียงได้ว่าเป็นชายหนุ่มที่ตนชอบพอ ก็จะกระซิบตอบและพูดคุยด้วย หรือ อาจจะออกมาพบชายหนุ่มข้างนอกบ้าน หากเสียงดังและพ่อแม่ฝ่ายหญิงได้ยิน จะถูกด่า และฝ่ายชายต้องไม่โต้เถียงแต่อย่างใด มิฉะนั้นอาจถูกปรับเงิน แต่โดยปกติพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเข้าใจและให้อิสระลูกสาวในการพูดคุยหรือออกไปพบชายหนุ่มที่ตนเห็นว่าเป็นคนดี โดยวิธีการปฏิบัติเช่นนี้ จึงมีผู้ขนานนามม้งว่า ผู้ไม่อิ่มในรัก

การหมั้น

ม้งนิยมหมั้นระหว่างญาติพี่ลูกน้องต่างแซ่กัน กล่าวคือ ลูกของพี่หรือน้องชาย กับ ลูกของพี่หรือน้องสาว การหมั้นจะกระทำตั้งแต่บุตรของทั้งสองฝ่ายมีอายุประมาณ 1 เดือน ทางฝ่ายชายเป็นผู้ไปหมั้น โดยนำสิ่งของตามธรรมเนียมไปมอบให้บิดามารดาของฝ่ายหญิง โดยทั้งสองฝ่ายให้คำมั่นสัญญาต่อกันว่า ถ้าบุตรโตเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วจะให้แต่งงานกัน ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา จะต้องเสียค่าปรับให้คู่สัญญาตามธรรมเนียม

การสู่ขอ

ในอดีตม้งจะหาภารยาให้กับบุตรชายของตนเมื่อมีอายุประมาณ 14-16 ปี หากรู้ว่าบุตรชายไปชอบหญิงสาวลูกของใครถึงกับต้องการได้ไว้เป็นพรรยา บิดาจะไหว้ผีด้วยธูป 7 ดอก และต้มไก่เซ่นผี โดยอธิษฐานว่า หากบุตรของตนแต่งงานกับหญิงสาวแล้วจะอยู่เย็นเป็นสุข ร่ำรวยมีเงินทองหรือไม่ ขอให้ผีตอบโดยดูบักษณะดีหรือไม่ดีที่ลิ้นไก่ และกระดูกขาไก่ที่ตนเซ่นไหว้ หากมีลักษณะไม่เป็นมงคล บิดาจะบอกให้บุตรเลิกติดต่อกับหญิงสาวคนนั้น และฆ่าไก่อีกเพื่อเซ่นผี เพื่อทราบคำทำนายของผีเกี่ยวกับหญิงคนนั้น ถ้าได้ลักษณะเป็นมงคล ก็จะจัดเฒ่าแก่ 2 คนไปสู่ขอหญิงสาว ในการไปสู่ขอนั้น จะให้บุตรชายที่จะไปแต่งงานไปกับเพื่อนพร้อมกับเฒ่าแก่ เพื่อให้ชชายหนุ่มและหญิงสาวซึ่งจะแต่งงานได้พบปะซึ่งกันและกัน เพื่อตกลงใจขั้นสุดท้าย ขณะเดินทางไปสู่ขอถ้ามีสัตว์ป่า เช่น งู หรือกวางเดินตัดหน้า หรือมีคนตายในหมู่บ้านที่เดินผ่าน ม้งถือว่า เป็นลางร้าย มักเลิกล้มความตั้งใจที่จะไปสู่ขอ เพราะถ้าแต่งงานไปแล้วอาจอยู่ด้วยกันไม่นาน อาจตายจากกัน หรือ ทำมาค้าไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีสัตว์ป่าเดินตัดหน้าถึง 2 ครั้ง หรือ มากกว่านั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นลางร้าย เพราะม้งเชื่อว่าสัตว์ป่าออกมาหากินโดยปกติวิสัย

ม้งนิยมไปสู่ขอในเวลาเย็นหลังจากเลิกทำงาน เมื่อไปถึงบ้านหญิงสาว และได้รับเชิญเข้าไปในบ้าน เฒ่าแก่ฝ่ายชายจะหยิบยาเส้นขนาดโตประมาณเท่านิ้วหัวแม่มือ มอบให้บิดามารดาของหญิงสาว แล้วแจ้งให้รู้ว่า ลูกชายของใครต้องการอยากจะมาเป็นลูกชายของท่าน ตามประเพณีของม้ง บิดามารดาของฝ่ายหญิงชายตกลงเพียง 2 คนไม่ได้ จะต้องเรียกบรรดาญาติพี่น้องมาช่วยพิจารณาตกลงใจด้วย แม้คณะญาติจะเห็นชอบด้วยแล้ว ฝ่ายบิดามารดาของหญิงสาวจะกล่าวอ้างเหตุผลเป็นทำนองไม่รับในการสู่ขออีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นการยืนยันว่า ฝ่ายชายมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการสู่ขอหญิงสาว ทางฝ่ายหญิงสาวจะตั้งเฒ่าแก่ของตนขึ้น 2 คน เพื่อตกลงกับเฒ่าแก่ฝ่ายชายในเรื่องเงินสินสอด โดยเฒ่าแก่ทางฝ่ายหญิงสาวจะนำเหล้า 1 ขวด และจอกดื่มเหล้า 4 ใบ ไปวางไว้บนโต๊ะเหล้าซึ่งอยู่ใกล้กับประตูบ้านด้านใน เฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายจะมาร่วมนั่งดื่มเหล้า และเจรจากันในเรื่องการสู่ขอ เมื่อเป็นที่ตกลงกันได้ เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะกล่าวว่า นั่งดื่มเหล้าที่ปากประตูเป็นการกีดขวางทางเดิน จึงควรย้ายไปที่อื่นจะดีกว่า จากนั้นคณะทั้งสองฝ่ายจะย้ายโต๊ะไปนั่งข้างในบ้าน แล้วเจรจาตกลงกันเรื่องสินสอดและกำหนดวันแต่งงาน ในคืนนั้น เฒ่าแก่ฝ่ายฝ่ายชายจะนอนค้างแรมที่บ้านหญิงสาว 1 คืน รุ่งขึ้นจึงเดินทางกลับ ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายหญิงสาวปฏิเสธการสู่ขอในครั้งนี้ เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงสาวจะย้ายโต๊ะไปดื่มเหล้ากันข้างนอกบ้าน เมื่อเหล้าหมดขวด ฝ่ายชายก็จะลากลับ หากฝ่ายชายมีความปราถนาอย่างแรงกล้าที่จะสมรสกับหญิงสาว แม้จะถูกปฏิเสธการสู่ขอไปแล้ว 1 ครั้ง ก็จะพยายามไปสู่ขออีกถึง 2 ครั้ง หากไม่สำเร็จก็เลิกลากันไปเองอย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ม้งบางหมู่บ้านไม่นิยมการสู่ขอ แต่นิยมการฉุดหรือหนีตามกัน เมื่อทำมาหากินมีเงินทอง แล้วจึงไปสู่ขอและจัดพิธีแต่งงานในคราวเดียวกัน

การฉุด

เมื่อหญิงสาวไม่เต็มใจรับรัก ชายหนุ่มจะใช้วิธีการฉุด ซึ่งนำไปสู่การแต่งงานในภายหลัง บิดาทางฝ่ายชายจะรับทราบในการฉุด และจัดหาคนไปช่วยบุตรชายของตนด้วย การฉุดจะกระทำกันนอกบ้าน โดยลวงหญิงรักออกจากบ้านพัก เพราะถ้าฉุดในบ้านถือว่าเป็นการผิดผี จะต้องเสียค่าปรับไหม หญิงสาวจะร้องให้ญาติช่วยเหลือ ขณะแย่งชิงกันญาติผู้ใหญ่ทางฝ่ายชายจะอ้อนวอนฝ่ายหญิงให้ปล่อยไปกับตน เมื่อตัวหญิงสาวไปถึงบ้านฝ่ายชายแล้ว จะถูดจัดให้อยู่ในห้องเดียวกับชายหนุ่มที่ต้องการแต่งงานด้วย ในวันรุ่งขึ้นฝ่ายชายจะส่งผู้แทน 2 คนไปแจ้งให้บิดามารดาฝ่ายหญิงทราบพร้อมกับอ้อนวอนมิให้มีความกังวลในบุตรสาวของตน ถึงเวลาสมควรจะมาสู่ขอและแต่งงานในโอกาสต่อไป ผู้แทนที่ไปเจรจาจะต้องมีวาทศิลป์ในการสนทนา เพื่อชักจุงให้บิดามารดาฝ่ายหญิงเห็นชอบกับการฉุดนั้น ขณะเดียวกันก็พยายามแจกยาเส้นให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิง ทำนองเดียวกับการสู่ขอ ถ้ารับยาเส้นก็แสดงว่าเห็นชอบด้วย ในทางตรงข้าม หากฉุดหญิงสาวไปแล้ว ทางฝ่ายชายไม่มาแจ้งให้บิดามารดาทราบ พวกม้งถือว่าเป็นการผิดธรรมเนียมประเพณี ต้องเสียค่าปรับประมาณ 12 มั่ง ในทำนองเดียวกัน ถ้าหญิงสาวสามารถกลับบ้านของตนได้หลังจากการฉุดประมาณ 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องถูกปรับ แต่บางครั้ง บิดาของหญิงสาวไม่ประสงค์ให้บุตรสาวของตนแต่งงานกับชายหนุ่มที่มาฉุดไป ก็อาจไม่ปรับและไม่ส่งลูกสาวคืน

การหนึตามกัน

การหนีตามกันเกิดขึ้นเมื่อชายหนุ่มหญิงสาวมีความรักใคร่ชอบพอกัน แต่ฝ่ายชายไม่สามารถไปสู่ขอแต่งงานได้ ชายหนุ่มจะชักพาหญิงสาวที่ตนรักให้นำเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆ ไปอยู่ที่บ้านของตน วันรุ่งขึ้นจึงส่งผู้แทนไปแจ้งให้บิดามารดาฝ่ายหญิงทราบ หญิงสาวจะช่วยครอบครัวของสามีทำมาหากิน เมื่อมีเงินทองเพียงพอแล้ว ฝ่ายชายจะไปสู่ขอและจัดพิธีแต่งงานตามประเพณี ปัจจุบันนี้ ม้งนิยมแต่งงานด้วยวิธีนี้ เพราไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก การมีภารยาคนที่สองของม้งมักเกิดขึ้นโดยวิธีหนีตามกันนี้ ยิ่งกว่านั้น

พิธีแต่งงาน

การแต่งงาน เริ่มต้นด้วยม้งมักไปสู่ขอหญิงสาวหมู่บ้านอื่น เมื่อสู่ขอได้แล้ว จึงนิยมจัดพิธีแต่งงานในวันเดียวกัน พิธีแต่งงานมักนิยมกระทำกันในตอนเช้าที่บ้านหญิงสาว โดยทางฝ่ายชายเป็นผู้จัดหาหมูและไก่มาให้ฝ่ายหญิงเลี้ยงแขก และถ้าเป็นไปได้ จะฆ่าวัวเลี้ยงแขกที่มาในงาน และการเลี้ยงจะนานเท่าใด ขึ้นอยู่กับสถานภาพทางครอบครัวของเจ้าสาว เหล้าที่ต้มเอง ก็จะถูกรินแจกจ่ายไปอย่างทั้วถึงในงานเลี้ยงนี้

ที่บ้านของฝ่ายเจ้าบ่าว จะมีการจัดหาเฒ่าแก่ของตนไว้สองคน เมื่อฆ่าและต้มไก่เรียบร้อยแล้ว จะอัญเชิญผีบ้านมากินไก่เครื่องเซ่น หลังจากนั้นจึงเชิญเฒ่าแก่ทั้งสองให้นั่งดื่มเหล้า และรับประทานไก่ที่โต๊ะตั้งเซ่นผีบ้าน ญาติพี่น้องของฝ่ายเจ้าสาวจะยืนพร้อมกันต่อหน้าเฒ่าแก่ และไหว้วานให้เฒ่าแก่ทั้งสองให้ช่วยจัดการพิธีการแต่งงานให้สำเร็จเรียบร้อยด้วยดี เฒ่าแก่จะรับไหว้ และให้คำสัญญาจะช่วยเป็นธุระให้ตามที่ร้องขอ และจะบอกให้เจ้าบ่าวกราบปู่ย่า ลุง อา และ น้องชายเจ้าบ่าว นอกจากนั้นให้กราบผีบ้านตามลำดับ คือ ผีสือกั้ง ผีเตาไฟใหญ่ ผีเสา ผีเตาไฟเล็ก และ ผีประตู เมื่อเสร็จจากพิธีดังกล่าวนี้แล้ว เฒ่าแก่พร้อมด้วยเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวจะเตรียมเงินสินสอด ข้าวและไก่ สำหรับนำไปเซ่นผีฟ้า และผีห้วย ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางไปบ้านเจ้าสาว

ถ้าเจ้าบ่าวมาจากที่อื่น และอาศัยอยู้บ้านญาติเป็นที่พักเพื่อพิธีแต่งงาน เวลาออกไปแต่งงานที่บ้านเจ้าสาว ไม่ต้องกราบไหว้ผีบ้าน เมื่อเดินทางไปถึงบ้านเจ้าสาว ฝ่ายเจ้าสาวฆ่าไก่สองตัว ต้มให้บิดาเจ้าสวาสำหรับเซ่นผีบ้านเจ้าสาว เพื่อให้ทราบว่า จะทำพิธีแต่งงานให้ลูกสาวพร้อมกับขอให้ศิลขอพรจากผีบ้าน จากนั้นเฒ่าแก่ของฝ่ายเจ้าสาว บอกให้เจ้าบ่าว และเพื่อนเจ้าบ่าวกรบไหว้ญาติของฝ่ายเจ้าสาว ประกอบด้วย ปู่ ย่า บิดา มารดา ลุง ป้า พี่ และ น้อง ตามลำดับ นอกจากนี้ก็ให้กราบไหว้ผีบ้านของเจ้าสาว เริ่มจาก ผีประตู ผีเตาไฟเล็ก ผีเสา ผีเตาไฟใหญ่ และผีสือกั้งตามลำดับ แล้วจึงไหว้เฒ่าแก่เจ้าบ่าวและเจ้าสาว หลังจากนั้นเฒ่าแก่ทั้งสองฝ่ายจะไปนั้งปรึกษาหารือกัน

ในกรณีการฉุดหรือหนีตามกัน การสู่ขอและการแต่งงานจะกระทำในวันเดียวกัน โดยจะปรึกษาตกลงกันในเรื่องเงินสินสอดจนเรียบร้อย แล้วเฒ่าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าวจะรินเหล้าให้บิดาฝ่ายเจ้าสาว ทางเจ้าบ่าวรับเจ้าสาวไปบ้านของตนได้ หากบ้านเจ้าบ่าวอยู่ไกล จำเป็นต้องค้างคืนที่บ้านเจ้าสาว รุ่งเช้าจึงเดินทางกลับ เมื่อถึงบ้านก็จะทำการฆ่าหมูและไก่ เพื่อบอกกล่าวผีบ้าน ขอให้รับเจ้าสาวไว้เป็นสมาชิกในครอบครัว แล้วจะมีการจัดเลี้ยงเฒ่าแก่ทั้งสองที่เป็นธุระจัดการการแต่งงานให้สำเร็จ

เงินสินสอด

ม้งนิยมใช้เงินสินสอดเป็นเงินแท่ง หรือเงินเหรียญอินโดจีน โดยปกติบิดามารดาจะเป็นผู้จัดหาเงินสินสอดนี้ให้ เงินสินสอดจะถูกแบ่งให้กับญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าสาวด้วย

สินสมรส

วันรุ่งขึ้นหลังพิธีแต่งงานแล้ว บิดาของหญิงสาวจะมอบสินสมรส ซึ่งโดยปกติประกอบด้วย วัว หมู ห่วงคอเงิน และเสื้อผ้าให้แก่คู่สมรส โดยฝ่านเฒ่าแก่ของฝ่ายชาย หรืออาจมอบเป็นเงินทดแทนก็ได้ สำหรับวัว ซึ่งเป็นสินสมรสนี้ ถ้าต่อมาภรรยาถึงแก่กรรม เพื่อเป็นเกียรติแก่ภรรยา สามีจะส่งข่าวให้บิดา หรือ ญาติของภรรยาเป็นผู้มาฆ่าวัว หากภรรยาหม้ายไปแต่งงานใหม่ ม้งนิยมมอบสินสมรสให้แกบิดามารดาของสามีคนเดิม

เมื่องานแต่งงานเรียบร้อยแล้ว ผู้หญิงจะต้องเตรียมงานสำหรับการให้กำเนิดเด็กสำหรับในชีวิตประจำวัน เธอต้องทำงานทุกชนิด จะตื่นนอนตั้งแต่เวลา 4-5 นาฬิกา ต้องเตรียมน้ำใช้ ตำข้าว หาอาหารให้สัตว์ และสมาชิกในบ้านรับประทาน เก็บเกี่ยวฝิ่น ถางหญ้า ทอผ้า และทำงานในไร่ เลี้ยงลูก สามี จะสบายกว่ามาก คือนั่งจิบน้ำชา นอนสูบฝิ่น เฝ้าบ้าน สนทนากับแขก แม้ว่างานในกลางวันเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ในตอนกลางคืน เธอต้องปั้นฝิ่น และทำให้ร้อนเพื่อให้สามีสูบ งานของเธอจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อทุกคนในบ้านหลับกันหมดแล้ว ชายม้งเมื่อมีภรรยาคนเดียว หากินไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ก็จะหาภรรยาเพิ่มขึ้นอีก บางคนอาจมีถึง 4 คน แต่บรรดาภรรยาของชายม้ง จะอยู่ร่วมกันเสมือนญาติพี่น้อง ไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน

การเกิด

ม้งเชื่อว่าการตั้งครรภ์เกิดจากผีพ่อผีแม่ให้เด็กมาเกิด เวลาใกล้คลอดหญิงมีครรภ์จะไม่ไปไหนมาไหนโดยลำพัง ต้องมีเพื่อนไปด้วยอย่างน้อย 1 คน การคลอดบุตรเป็นไปตามธรรมชาติ โดยหญิงตั้งครรภ์จะนั่งอยู่บนม้านั่งขนาดเล็กหน้าห้องนอน เอนตัวพิงสามี ปิดประตูบ้าน ห้ามเด็กเข้าไปยุ่งในบ้าน หลังจากคลอดจะทำความสะอาดเด็ก ตัดรกด้วยกรรไกร ถ้าเป็นเด็กชาย จะนำรกไปฝังไว้ที่เสากลางบ้าน ซึ่งเป็นเสาที่มีผีเสาสถิตอยู่ เพราะเด็กผู้ชายควรจะรู้เรื่องผี ถ้าบุตรเป็นหญิง จะฝังรกไว้ใต้แคร่นอนของมารดา

เด็กเกิดได้ 3 วัน บิดาจะทำพิธีตั้งชื่อ และขอบคุณผีพ่อผีแม่ที่ส่งเด็กมาเกิด พร้อมทั้งบอกผีบ้านขอให้คุ้มครองเด็ก และรับไว้เป็นสมาชิกของครอบครัวและวงศ์ตระกูล ม้งเชื่อว่าเด็กยังไม่ครบ 3 วัน ยังไม่เป็นมนุษย์ จึงยังไม่ตั้งชื่อให้ หากเด็กนั้นตายลง จะไม่ทำบุญศพให้ตามประเพณี แต่จะถูกนำไปฝังเช่นสัตว์

การตาย

ญาติพี่น้องจะล้างหน้าทาแป้ง และแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ให้แก่ผู้ตาย และเชื่อว่าคนตายจะได้เป็นที่ชื่นชม และได้รับการต้อนรับจากคนอีกโลกหนึ่ง ผู้ทำความสะอาดศพก็จะได้บุญกุศลด้วย แล้วจะวางศพนอนขนานกับฝาผนังซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับประตูบ้าน ม้งบางวงศ์ตระกูลหันศรีษะศพไปทางเตาไฟใหญ่ แต่บางวงศ์ตระกูลนิยมหันศรีษะไปทางตรงข้าม มีการสวดเพื่อให้คนตายทราบว่าตนได้ตายไปแล้ว และกำลังเดินทางไปหาผีพ่อผีแม่ซึ่งอยู่อีกโลกหนึ่ง

พิธีศพจะกินเวลานานพอสมควร ทั้งนี้เพื่อรอให้ญาติพี่น้อง ซึ่งอยู่ไกลออกไป ได้มีโอกาสมาร่วมในงานพิธีด้วย ทั้งรอวันฤกษ์ดีสำหรับการฝังศพ เพราะเชื่อว่าจะไปเกิดที่ดีมีความสุข ทั้งลูกหลานข้างหน้าจะได้ร่ำรวยมีความสุขด้วย

ญาติพี่น้องของผู้ตายจะตกลงเลือกหัวหน้าจัดการพิธี และจะมอบหมายงานบางอย่างให้ญาติพี่น้องผู้ตาย เช่น สร้างที่ตั้งศพภายในบ้าน เซ่นอาหารคนตาย เป่าแคน ตีกลอง หุงข้าว ทำอาหาร ต่อหีบศพ ฝ่าฟืน ตักน้ำ ตำข้าว ฆ่าวัว รวมทั้งการชำระหนี้ของผู้ตาย ในระหว่างพิธีจะมีการเป่าแคน และตีกลอง เสียงแคนนั้นมีเพลงเฉพาะในพิธีศพ จะนำไปเป่าเล่นในโอกาสอื่นไม่ได้ ส่วนกลองนั้น ถ้าไม่มีพิธีศพ ห้ามตีโดยเด็ดขาด การตายโดยโรคระบาดนั้น จะนำไปฝังโดยทันที ไม่มีการจัดพิธีศพแต่อย่างใด

การทำบุญศพที่มีลูกหลานจำนวนมาก จะเป็นงานใหญ่ เพราะลูกชายทุกคนจะต้องฆ่าวัวให้บิดามารดาคนละ 1 ตัว ส่วนลูกสาวนั้นอาจรวมเงินซื้อวัวมาทำบุญให้พ่อแม่ตนด้วย โดยเหตุนี้ ม้งจึงชอบมีบุตรชายจำนวนมาก เมื่อตนตายจะได้มีคนช่วยทำบุญให้ใหญ่โตสมเกียรติ สำหรับศพเด็กหนุ่ม มักไม่มีการฆ่าวัวทำบุญ แต่ถ้าบิดามารดาเป็นผู้มีฐานะดี ก็อาจฆ่าวัวให้ในพีธี เมื่อได้ฤกษ์นำไปฝัง จะต้องย้ายศพนั้นไปตั้งไว้ที่ไม้กางเขน 2 ต้น เสร็จแล้วจะประกอบพิธีเรียกผู้ตายให้มารับวัวซึ่งลูกหลานมอบให้ จากนั้นจึงจะฆ่าวัว เมื่อชำแหละวัวเรียบร้อยแล้ว คนครัวจะจัดแบ่งเนื้อวัวให้ญาติผู้เกี่ยวข้อง และทำอาหารเลี้ยงแขกในบริเวณนั้น และเวลาประมาณ 16.00 น. จึงเคลื่อนย้ายศพไปฝัง

ม้งจะฝังศพในตอนเย็น และเชื่อว่า ถ้าฝังในตอนเช้า ผีคนตายจะกลับมารบกวนทางบ้านอีก หมอแคนเป็นผู้เป่าแคนเดินนำหน้าขบวน เพื่อพ้นบ้านผู้ตายสัก 1 กิโลเมตร จะหยุดเป่าแล้วเดินลอดใต้ศพกลับบ้าน ญาติผู้หนึ่งจะถือคบเพลิงส่องทางให้คนตายหลงทาง และกลับบ้านเดิมไม่ได้ พอถึงเวลาเย็นใกล้ค่ำ ญาติจะไปจุดไฟกองฟืนที่ทิ้งเอาไว้ โดยเชื่อว่าเมื่อผีคนตายจะกลับบ้าน เมื่อพบกองไฟ จะผิงไฟ แล้วเดินทางกลับไปยังที่ฝังศพ เพราะไม่สามารถหาทางกลับไปบ้านเดิมได้ หลังจากฝังศพแล้ว 3 วัน ญาติผู้ตายจะนำก้อนหินไปกองเรียงไว้บนหลุมฝังศพ โดยเชื่อว่า เป็นการสร้างบ้านให้ผีผู้ตายอยู่ หลังจากนั้นประมาณ 13 วัน จะทำพิธีเชิญวิญญาณผู้ตายกลับไปเยี่ยมบ้านเพื่อกินไก่ ภายใน 1 ปี ทางญาติผู้ตายจะทำพิธีปล่อยผีผู้ตายให้ไปเกิด หากไม่ประกอบพิธี ผู้ตายไม่สามารถไปเกิดได้ จะกลับมารบกวนพี่น้อง หรือ ทำใหเกิดโรคภัยไข้เจ็บ และทำให้สัตว์ตาย

สำหรับศพของผู้มีอายุ จะถูกฝังตามไหล่เขาซึ่งมีสันเขาขนาบอยู่รอบด้าน ม้งห้ามฝังศพลูกในวันคล้ายวันฝังบิดามารดา เพราะเชื่อว่าจะทำให้ทำมาหากินไม่เจริญ และห้ามนำศพอื่นไปฝังในระดับเดียวกันอีกในไหล่เขานั้น เว้นแต่จะฝังให้ต่ำกว่า หรือเยื้องไปจากศพที่ฝังไว้ก่อน ถ้าฝังอยู่ในระดับเดียวกัน จะทำให้ผู้ตายแย่งที่ทำกินกัน และจะกลับมารบกวนทำให้ญาติพี่น้องเจ็บป่วย ห้ามฝังศพไว้บนไหล่เขาซึ่งมีหมู่บ้านตั้งอยู่ สำหรับศพเด็ก นิยมฝังไว้ในบริเวณเดียวกัน เพื่อให้เป็นเพื่อนเล่นกันแก้เหงา

การไว้ทุกข์ ญาติพี่น้องจะไว้ทุกข์ให้ผู้ตายประมาณ 13 วัน ไม่มีการแต่งตัวเป็นพิเศษแต่อย่างใด คงเป็นไปตามปกติ แต่ห้ามปฏิบัติกิจบางอย่าง ซึ่งจะทำให้ผู้ตายไปเกิดไม่ได้ กล่าวคือ ห้ามซักเสื้อผ้าและหวีผม เพราะสิ่งสกปรกในผ้าจะเข้าไปในอาหารของผู้ตาย
ห้ามต่อด้าย เพราะด้ายจะพันแข้งขาของผู้ตาย
ห้ามเย็บผ้า เพราะเชื่อว่าผู้ตายจะถูกเข็มตำ
ถ้าสามีหรือภรรยาตาย ห้ามแต่งงานใหม่ในทันที จนกว่าจะพ้น 13 วันไปแล้ว เพราะจะทำให้ผู้ตายมีความกังวลในสามีหรือภารยาของตน

ต่อหน้า 2