(หน้า 2)

ประเพณีเกียวกับการรับประทานอาหารและการดื่ม

ม้งไม่ใช่นักดื่มนักกิน อาหารมีลักษณะง่ายๆ ซึ่งได้แก่ ข้าว เนื้อสัตว์ และ ผักต่างๆ เนื้อสัตว์นอกจาก เนื้อหมู เนื้อวัว ไก่ป่า ม้งกินได้ทั้งเนื้อลิงและค่าง (ยกเว้นสุนัขและแมว) ม้งนิยมผักกับน้ำมันหมู ในเทศกาลปีใหม่ ม้งนิยมฆ่าหมูเพื่อเลี้ยงผี เนื้อหมูจะถูกตัดเป็นชิ้นยาวคลุกกับเกลือ แขวนไว้กับไม้ระแนงหลังคาบ้าน เก็บไว้กินเป็นเวลานานๆ

ม้งเดินทางไปเยี่ยมเยียนกันอยู่เสมอ แขกที่สำคัญที่มาเยี่ยมมักเป็นญาติพี่น้องฝ่ายภรรยา ซึ่งแต่งงานต่างวงศ์ตระกูล และไม่ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน การเยี่ยมเยียนนี้จะเป็นเวลาว่างหลังฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งญาติทางฝ่ายภรรยาจะได้รับการต้อนรับอย่างดี

การกินอาหาร ม้งนิยมใช้ตะเกียบ ซึ่งรับมาจากธรรมเนียมจีน เหล้าจะนิยมดื่มกันในงานเลี้ยงต่างๆ เช่น งานแต่งงาน หรือ งานเลี้ยงญาติฝ่ายภรรยามาเยี่ยมเยียน พิธีการหรือผู้เกี่ยวข้องจะรินแจกครั้งละ 2 แก้ว โดยเชื่อกันว่า จะทำให้คู่สามีภรรยาจะอยู่ด้วยกันตลอดไป ก่อนจะดื่มเหล้า แต่ละคนจะพูดว่า "ผมจะดื่มเพื่อทุกคน" และจะต้องค่ำจอกหรือแก้วเมื่อหมดแล้ว ม้งจนิยมดื่มเหล้าครั้งเดียวหมดแก้ว มีการดื่มซ้ำวนเวียนเหลายครั้ง ผู้ที่มิใช่นักดื่มย่อมจะทนไม่ได้ อาจขอให้บุคคลอื่นช่วยดื่มแทนก็ได้ เหล้าจะทำกันเองในหมู่บ้าน จากข้าวโพด ข้าว หรือข้าวสาลี ม้งให้เกียรติแก่ผู้ชาย เพราะฉะนั้นผู้หญิงจึงรับประทานอาหารหลังผู้ชายเสมอ

ความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ม้งมีความเชื่อถือในโชคลางและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้มีวิญญาณอยู่ในทุกแห่ง (animism) เป็นทั้งผีบรรพบุรุษและผีซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม เช่น ท้องฟ้า ลม ลำน้ำ ป่าไม้ ภูเขา ไร่ และ บ้านเรือน สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถึชีวิตของพวกเขา ให้ความสมหวัง เป็นที่พึ่งในความเจ็บไข้ได้ป่วย หรือภัยจากธรรมชาติ ซึ่งโดยความจริงแล้ว ม้งตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขาสูง ในระดับประมาณ 2000 เมตรขึ้นไป มีทั้งสัตว์ป่า และอากาศหนาวเย็นจัด เมื่อฝนตกหนัก จะมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมีส่วนผลักดันให้เกิดความเชื่อถือในการปฏิบัติ เพื่อความอยู่รอด และเป็นเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ

ความเชื่อผูกพันกับสัตว์ ม้งเชื่อว่า ถ้าสัตว์ป่า เช่น กวาง เสือ หมูป่า เข้ามาในหมู่บ้าน จะถือว่าเป็นลางร้าย ทำให้เกิดการเจ็บป่วย และการตาย การแก้ลางร้าย โดยการย้ายหมู่บ้านไปอยู่ที่อื่น หรือในการเดินทางไปค้าขาย ล่าสัตว์ มักดูโชคลางจากการฆ่าไก่เซ่นผีเรือน ผีป่า หรือผีห้วย ถ้าเห็นลิ้นไก่ มีลักษณะที่บอกว่าโชคดีไม่มีอุปสรรค์ ก็จะเดินทางไปค้าขาย แต่ถ้าลิ้นไก่ไม่ดี หากจำเป็นต้องไปค้าขายจริง ก็ต้องฆ่าไก่เซ่นอีกตัวหนึ่ง และถ้าลิ้นไก่ยังอยู่ในลักษณะไม่ดีอีก ก็จะไม่เดินทาง

ม้งเชื่อว่า ผีที่ตนนับถือมีอยู่หลายระดับ ระดับสูงสุด ได้แก่ผีฟ้า เรียกว่า กรั้งดู้ ผีฟ้าเป็นผู้สร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก ให้คุณและโทษแก่มนุษย์ ใครทำดี ตายไป ผีฟ้าจะให้ขึ้นสวรรค์อยู่บนฟ้า ถ้าทำชั่ว จะตกนรกอยู่ใต้พื้นดิน มีแต่ความทุกข์ทรมาน ระดับรองจากผีฟ้า ได้แก่ ผีหมู่บ้าน เรียกว่า ตรงเช้ง จะคุ้มครองหมู่บ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ผีในระดับถัดไปได้แก่ ผีบรรพบุรุษ หรือ ผีเรือน เรียกว่า กรั้งคัวฮูเจ ซึ่งเป็นผีของสมาชิกในแต่ละครอบครัว ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ผีบรรพบุรุษจะปกป้องรักษาคนในครอบครัวให้มีความสุข ผีใหญ่ของบ้าน อยู่ที่เสาเรือน เสากลาง และยังมีผีคุ้มประตูหน้าบ้าน ครัว ห้องโถง เตาดิน ห้องเก็บของ และห้องนอนของหัวหน้าครอบครัว มีผีสุนัขคุ้มกันบ้านเรือนของม้งให้ปลอดภัยจากผีร้ายต่างๆ ตามบ้านม้งขาวจะมีเท้าสุนัข 1 คู่ แขวนไว้เหนือประตูบ้าน และจะมีหมอผีทำพิธีเซ่นสังเวยผีต่างๆ เหล่านี้ หนึ่งครั้ง

นอกจากผี 3 ระดับดังกล่าวแล้ว ม้งยังนับถือผีปฏิบัติการตามตามจารึตประเพณี มีอยู่หลายชนิด ซึ่งผีฟ้าจะเป็นผู้บัญญัติจารีตประเพณีให้ถือปฏิบัติในสังคม โดยผีฟ้าได้กำหนดผีผู้คอยลงโทษผู้กระทำผิดในแต่ละจารีตประเพณี เช่น การทำไร่ หากผู้ใดฝ่าฝืน ผีไร่จะเป็นผู้ลงโทษ

ม้งเชื่อว่า คนที่เกิดมา มี 3 ขวัญ เรียกว่า ปลี่ เมื่อเด็กเกิดมาจะต้องทำพิธีเซ่นสังเวยด้วยหมู และไก่ เพื่อเรียกขวัญให้เข้าร่างเด็ก แล้วตั้งชื่อให้เด็ก อย่างน้อยจะมี 1 ขวัญอยู่ในร่างกาย อีก 2 ขวัญ อาจล่องลอยออกจากร่างกายในขณะที่เจ้าของหลับ หากขวัญออกจากร่างทั้งไปทั้ง 3 ขวัญ ผู้นั้นจะถึงแก่ความตาย เชื่อกันว่า ขวัญหนึ่งจะอยู่ในที่ฝังศพ ขวัญหนึ่งจะเกิดใหม่ และอีกขวัญหนึ่งจะไปสวรรค์หรือนรก ขวัญนี้มีความรู้สึกเหมือนมนุษย์ อาจทำให้พอใจ เสียใจ เกลียด รัก และ ชอบ แต่ขวัญจะทำอันตรายหรือทำการแก้แค้นไม่ได้ ม้งเชื่อในเรื่องเกิดใหม่ โดยขวัญจะไปเกิดใหม่ในร่างของหญิงมีครรภ์ คนตายไปแล้วจะเกิดเป็นเพศตรงข้าม ม้งถือว่าการกระทำในระหว่างมีชีวิต ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ขวัญของตนจะต้องไปสวรรค์หรือนรก แต่มีส่วนกำหนดว่าจะไปเกิดใหม่ในชาติหน้าเป็นอะไร คนที่กระทำผิดจะเกิดเป็นอะไร ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของความผิดที่ตนกระทำไว้

หมอผี "คนทรง" เรียกว่า "จือเน้ง" เป็นผู้ที่มีอำนาจในการติดต่อกับผีต่างๆ ได้ โดยการเข้าทรง แล้วยังมี หมอผี "คาถา" และหมอผี "ยา" หมอผีทั้งสองประเภทหลังนี้จะรักษาคนเจ็บด้วยการสวดคาถา และใช้ยาจำพวกพืช ซึ่งม้งจะมีความมั่นใจ และเชื่อถือในหมอผีมากกว่า โดยปกติเป็นผู้ชาย

หมอผีจะถูกเรียกตัวมาเพื่อรักษาคนเจ็บ เขาจะได้รับการยกย่องและสรรเสริญว่าเป็นหมอรักษาเมื่อมาถึง หัวหน้าบ้านจะเตรียมชามที่ใส่ฝิ่นและกล้อง และรินน้ำชาให้ การเป็นหมอผีนี้ เป็นได้ 2 วิธี โดยการฝัน บางคนฝันว่า มีหมอผีอยากมาอยู่กับตน ก็จะมีการทำพิธี เสร็จแล้วคนนั้นก็จะกลายเป็นหมอผี หรือ อีกวิธี คือ เมื่อม้งคนใดป่วยเป็นเวลานาน หมอผีจะบอกว่า ผีหมอต้องการอยู่กับผู้ป่วยเพื่อรักษา ก็จะทำพิธี เมื่อผู้ป่วยหายเป็นปกติ ก็จะได้หมอผีรักษาต่อไป ซึ่งหมอผีที่ได้โดยวิธีนี้ จะมีมากกว่าวิธีแรก

หมอผีจึงมีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของม้งหลายประการ แม้หัวหน้าหมู่บ้านซึ่งคอยดูแลทุกข์สุขของลูกบ้าน แต่หมอผียังมีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึกนึกคิดและความเชื่อถือของม้ง การเข้า สังคมชาวม้งมีความเชื่อถือผีในหลายประเภทดังกล่าวมาแล้ว ในวิถึชีวิตของชาวม้ง ตั้งแต่เกิด การทำมาหากิน เจ็บป่วย ตาย ล้วนแต่จะเข้าเกี่ยวข้องกับผี และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งจะต้องมีส่วนรับรู้เสียก่อนทั้งสิ้น

ในงานเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ จะเป็นงานฉลองที่มีความสำคัญที่สุด งานจะเริ่มต้นตั้งแต่วันแรม 15 ค่ำ ของเดือนธันวาคมของทุกปี ซึ่งจะเป็นเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ม้งมีความขยันขันแข็งทำมาหากินตลอดทั้งปี ดังนั้นการหยุดงาน และร่วมฉลองปีใหม่อย่างพร้อมเพรียง จึงมีความหมายสำหรับชาวม้งอย่างยิ่ง ในวันแรกของงาน จะมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีเรือน หลังจากนั้น มีการเดินทางไปพบปะ เยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ ญาติพี่น้อง มีการเลี้ยง ดื่มเหล้า การละเล่น โดยหนุ่มๆ สาวๆ เล่นโยนลูกบอลกัน มีการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหนุ่มกับหญิงสาว การฉลองจะติดต่อกันถึงหนึ่งสัปดาห์ หรืออาจจะมากกว่านั้น

การปกครอง

กฏข้อบังคับของม้ง มีลักษณะคล้ายกับกฏหมายอังกฤษ (Common Law) คือ เป็นกฎหมายที่สืบเนื่องจากจารีตประเพณี ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จะต่างกันตรงที่ม้งนำเอากฎหมายข้อบังคับไปผูกไว้กับภูติผี และม้งเองไม่มีภาษาเขียน ชาวม้งได้ถือหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด

ชาวม้งไม่มีหัวหน้าสูงสุด และไม่ได้รวมกันอยู่เป็นที่หนึ่งที่เดียวกัน ต่างแยกหมู่บ้านออกไปปกครองกันเองเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน สังคมในแต่ละหมู่บ้านจึงเป็นสังคมที่เล็ก สามารถเรียกประชุมโดยตรงโดยพร้อมเพรียงกันได้

การกำหนดวิถีการปกครอง ก็ใช้วิธีออกเสียง ซึ่งทุกคนมีสิทธิเท่ากันคนละหนึ่งเสียง และถือเสียงข้างมากเช่นเดียวกับหลักสากลทั่วไป แต่ผู้มีสิทธิออกเสียงในการปกครอง ได้แก่ผู้ชายเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น ผู้หญิงและเด็กมีสิทธิเข้าร่วมประชุมรับฟังและให้ความเห็น แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง เพราะถือว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง เชื่อฟังและปรนนิบัติสามีเท่านั้น สำหรับเด็กนั้น ม้งมิได้ถืออายุเป็นเครื่องวัด หากใช้วัดด้วยการเป็นผู้มีความรับผิดชอบ ความสามารถทำงานตลอดจนผลงานที่ได้กระทำโดยที่ประชุมหมู่บ้านจะเป็นผู้พิจารณากำหนด

หัวหน้าหมู่บ้าน

หัวหน้าหมู่บ้านมีฐานะเป็นประมุข และผู้นำหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวแทนในนามของหมู่บ้านนั้นๆ หัวหน้าหมู่บ้านมีสิทธิแต่งตั้งผู้ช่วยได้ 2 คน ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านไม่มีกำหนดไว้ แต่จะสิ้นสภาพโดย การตาย ลาออก อพยพไปอยู่ที่อื่น หรือถูกที่ประชุมหมู่บ้านปลดออก โดยการลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นการสิ้นสภาพทั้งหมด

หน้าที่ของหัวหน้าหมู่บ้าน ได้แก่ เป็นผู้แทนของหมู่บ้านในการเจรจาติดต่อกับคนภายนอก รับผิดชอบในการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ตัดสินข้อพิพาทระหว่างครอบครัว ตัดสินใจในการโยกย้ายหมู่บ้าน หรือมีอำนาจพิเศษในกรณีฉุกเฉิน เช่น ความปลอดภัยของหมู่บ้าน

ในทางปฏิบัติแล้ว การบริหารงานของหัวหน้าหมู่บ้านจะถูกควบคุมโดย ผู้เฒ่า ผู้แก่ ซึ่งเปรียบเสมือน คณะที่ปรึกษาหมู่บ้าน ในทางอ้อม จะเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเสมอไป แต่มีอิทธิพลต่อหัวหน้าหมู่บ้านไม่น้อย เพราะเป็นคณะที่สามารถคุมเสียงข้างมากในการประชุมหมู่บ้าน

การประชุมหมู่บ้าน

การประชุมหมู่บ้านนี้ มีหน้าที่ ออกระเบียบข้อบังคับกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ขัดแย้งกับจารีตประเพณีเพื่อบังคับใช้ภายในหมู่บ้าน การประชุมไม่จำกัดจำนวน เพศ วัย ทั้งไม่ระบุว่ามีเท่าใด จึงจะครบองค์ประชุม การออกเสียงถือหลัก 1 เสียง 1 คน หัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นประธาน ในกรณีคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานมีอำนาจชี้ขาดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ และในกรณีที่มีการเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้านขึ้นใหม่ ที่ประชุมจะเลือกผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอาวุโสทำหน้าที่เป็นประธาน

กระบวนการยุติธรรม

เมื่อเกิดกรณีพิพาทหรือเหตุการณ์ร้ายแรงในหมู่บ้าน ม้งจะไม่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยเข้าไปดำเนินการ ตามกระบวนการยุติธรรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. คณะผู้เฒ่าผู้แก่ของสกุล ตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีอยู่ในสกุลเดียวกัน ผู้เสียหายนำความไปร้องเรียน เพื่อให้คณะผู้เฒ่าผู้แก่ในสกุลตัดสิน และจะถือว่าคำตัดสินนั้นเป็นเด็ดขาด ในกรณีเช่นนี้ หัวหน้าหมู่บ้านจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะถือว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว
2. คณะกรรมการกลาง ตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีต่างสกุลกัน ผู้เสียหายนำความไปร้องเรียนต่อหัวหน้าหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านจะเรียกคู่กรณีมาสอบถาม และจะแต่งตั้งคณะกรรมการกลางตัดสินข้อพิพาทดังกล่าวนี้ มีวิธีการแต่งตั้ง 2 วิธี
2.1 หัวหน้าหมู่บ้านเป็นผู้แต่งตั้ง โดยการยินยอมของคู่กรณี หัวหน้าหมู่บ้านจะแต่งตั้งบุคคลใดมาปฎิบัติหน้าที่ก็ได้ ยกเว้นคนที่อยู่ในสกุลเดียวกันกับคู่กรณี
2.2 คูกรณีสมัครใจแต่งตั้งเอง คู่กรณีจะต้องเลือกบุคคลซึ่งจะมาเป็นกรรมการฝ่ายละเท่าๆ กัน จะเลือกคนในสกุลของฝ่ายตรงข้ามมาเป็นกรรมการฝ่ายตนก็ได้ แต่ห้ามเลือกคนในกลุ่มเดียวกัน จำนวนกรรมการทั้งสองกรณีนี้ไม่จำกัด โดยปกติจะมีประมาณ 6-10 คน

การพิจารณาตัดสินคดี จะกระทำที่บ้านพักหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ หลังจากซักข้อเท็จจริงทุกฝ่ายแล้ว คณะกรรมการจะตัดสินโดยการออกเสียง ถือเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน หัวหน้าหมู่บ้านในฐานะประธานกรรมการจะเป็นผู้ชี้ขาด จะเห็นได้ว่า หัวหน้าหมู่บ้าน นอกจากจะมีอำนาจบริหาร ยังมีอำนาจในทางตุลาการอีกด้วย

สำหรับบทลงโทษ จะอาศัยจารีตประเพณีเป็นเกณฑ์ ถ้าเป็นกรณใหม่ คณะกรรมการก็จะพิจารณาบทลงโทษขึ้นใหม่ และให้ถือเป็นหลักปฏิบัติต่อๆ ไปด้วย

กลุ่มการเมือง

การปกครองของม้ง ถือหลักเสียงข้างมาก ม้งจึงรวมพลังกันได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนเหมือนระบบพรรคการเมือง แต่ไม่ได้ถืออุดมการณ์เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวสมาชิก หากแต่ถือสายสัมพันธ์ทางสกุลเป็นเครื่องรวมพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้น สกุลใดใหญ่มีสมาชิกมากก็จะมีเสียงข้างมากในการดำเนินงานทั้งปวง แต่ก็อาจมีสกุลเล็กๆ แต่รวมกันได้ จนได้เสียงข้างมาก

การบริหารงานของกลุ่มแต่ละกลุ่ม ขึ้นอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอาวุโสของสกุล ดังเช่น ในกรณีเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้าน ผู้อาวุโสของแต่ละสกุลจะเรียกสมาชิกของสกุลมาประชุมเพื่อคัดเลือกผู้แทนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นการภายในก่อน เมื่อเสียงส่วนใหญ่มีมติดำเนินอย่างใด สมาชิกทุกคนจะต้องไปออกเสียงตามมติของกลุ่ม ในที่ประชุมของหมู่บ้านอย่างพร้อมเพรียงกัน

เมื่อพิจารณาการปกครองของชาวม้ง อาจเรียกได้ว่า เป็นประชาธิปไตย เพราะมีอำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุด ชาวม้งได้ใช้อำนาจในี้ในการตัดสินและกำหนดวิธีการปกครองหรือกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงภาพกว้างๆ ทั่วไปเกี่ยวกับชาวม้ง ซึ่งอาจมีบางสิ่งบางอย่างแตกต่างไปจากที่กล่าวมา แตกต่างกันไปตามกาลเวลา และแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม หากท่านพบเห็นข้อผิดพลาดประการใดหรือมีข้อเสนอแนะใดๆ กรุณาแจ้งมาเข้ามาให้ทีมงานจัดทำเวปไซต์ด้วยจักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

โปรดติดตามรายละเอียดและสาระน่ารู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับม้งจากเวปไซต์ของเราในโอกาสต่อไป


หนังสืออ้างอิง
The Hmong, Editing and Photographs by Robert Cooper
Hmong Voice by Jon Boyes and S. Piraban
Hmong at the Turning Point by Yang Dao, Ph.D.
ชาวเขา โดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์
นโยบายและการดำเนินงานพัฒนาชาวเขาเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ 2514 โดย พล.ต.ต. สุรพล จุลละพราหมณ์